สานฝันธุรกิจเงินล้านด้วยการสร้างแบรนด์เครื่องสำอาง ตอนที่ 3

2357 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สานฝันธุรกิจเงินล้านด้วยการสร้างแบรนด์เครื่องสำอาง ตอนที่ 3

มาต่อกันเลยสำหรับ การสร้างแบรนด์เครื่องสำอาง ตอนที่ 3 หากมาเจอตอนนี้ก่อน แนะนำให้กลับไปอ่านในตอนที่ 1 และ 2 ก่อน ซึ่งเราพูดกันถึงการกำหนดสินค้าที่จะนำมาสร้างแบรนด์ และการค้นหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งยังมีรายละเอียดอีกพอสมควร และหลายคนคงอยากรู้คำตอบจากคำถามทิ้งทายให้เป็นแบบฝึกหัด ที่ถามถึงลูกค้าเป้าหมายสำหรับสินค้า สบู่สำหรับเด็ก รูปทรงเป็นสัตว์น่ารักๆ ตอบกันได้บ้างมั้ยครับ มาดูคำตอบกัน

แน่นอนว่าหลายคนที่คิดจะทำเครื่องสำอาง อยากจะทำแพคเกจน่ารักๆ ดึงดูดเด็ก คำตอบของคุณอาจจะระบุกลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กๆ แต่ผมอยากให้คุณคิดอีกนิดนึงว่าใครคือคนที่จ่ายเงินซื้อสินค้าของคุณ เด็กอาจจะชอบที่รูปทรง สีสัน กลิ่น ชอบจนอยากได้ แต่ซื้อได้มั้ย นั่นคือประเด็น ถ้าเด็กซื้อไม่ได้ กลุ่มเป้าหมายก็ไม่ใช่เด็กซะทีเดียว แต่เป็นผู้ปกครองที่จะยอมจ่ายเงิน ผู้ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า เด็กอยากได้มากแค่ไหนถ้าผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อไม่ยินยอม สินค้าก็ขายไม่ได้

เห็นมั้ยครับว่า การค้นหากลุ่มเป้าหมายมีส่วนสำคัญต่อการจัดทำต้นทุน รูปแบบ กลยุทธ์ และอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้สินค้าของเราขายได้ ดังนั้นคำตอบของคำถามนี้ คือ พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ส่วนตัวเด็กนั้นจะเป็นกลุ่มเป้าหมายรอง จำเอาไว้ครับ “ลูกค้าของเราเป็นใคร ลูกค้ามีเงินพอจะซื้อสินค้าของเรามั้ย” ถามคำถามนี้ก่อนทุกครั้ง เพื่อกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย



เอาล่ะเรามาคุยกันต่อในขั้นตอนการทำธุรกิจเครื่องสำอางกันดีกว่า

3.        ค้นหาจุดแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ เนื่องด้วยเครื่องสำอางประเภทสบู่ ครีม โลชั่น เซรั่ม มีเยอะแยะมากมายในท้องตลาด คุณต้องหาจุดขายที่แตกต่างออกมา ยิ่งทำให้ลูกค้าร้อง “ว้าว” ได้ สินค้าของคุณเกิดในตลาด แบรนด์คุณติดลมแน่นอน

4.        ติดต่อไปยังโรงงานผลิตสบู่ ครีม โลชั่น ที่สนใจ เพื่อนัดหมายเข้าไปพูดคุย ทดลองซื้อสินค้าตัวอย่างมาทดลองใช้ ให้คนรอบข้างทดลองใช้ หรืออาจจะซื้อมาจำนวนหนึ่งเอาไปทดลองขายก็ได้ เพื่อจะได้รู้จักตัวสินค้าว่ามีข้อดี ข้อด้อยตรงไหนบ้าง ซึ่งแต่ละโรงงานผลิตจะมีข้อกำหนดการจัดทำตัวอย่างไม่เหมือนกัน

5.        หลังจากได้ข้อสรุปเรื่องสินค้าที่จะทำการผลิต ขั้นต่อไปคือ การตั้งชื่อแบรนด์ ฟังดูเหมือนง่าย เอาเข้าจริงเป็นเรื่องยากพอสมควร ผมมีหลักเกณฑ์ให้คร่าวๆ และไม่ตายตัวนะครับ เอาไปประยุกต์ใช้ ปรับใช้ให้เข้ากับความตัวของเจ้าของแบรนด์ การตั้งชื่อแบรนด์ไม่ควรจะยาวเกิน 4 พยางค์ เพื่อให้ลูกค้าจดจำได้ง่าย อย่าคิดเพียงสวย เก๋  แต่ต้องตั้งให้อ่านง่าย อ่านผ่านครั้งเดียวจำได้เลยจะดีมาก อีกเรื่องของการตั้งชื่อแบรนด์ที่หลายคนไม่ค่อยได้คิดถึง นั่นคือเรื่องราว เรื่องเล่าของแบรนด์

6.        การออกแบบโลโก้ แบรนด์จะจดจำได้ง่ายขึ้นหากโลโก้เป็นที่จดจำได้ง่าย โลโก้ควรออกแบบให้สื่อถึงตัวตนของแบรนด์ สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ การออกแบบโลโก้แนะนำให้จ้างผู้มีความชำนาญในการออกแบบจะดีกว่ามานั่งคิดเอง เพราะเค้าเรียนมา การใช้สี ลายเส้น มันจะแฝงความหมาย ความรู้สึกต่างๆ ไว้ในโลโก้

 

สรุปในตอนที่ 3 หากเราไปดำเนินการ เราจะได้จุดแตกต่างของสินค้า เพื่อสร้างความ “ว้าว” ให้เกิดกับลูกค้า ตั้งชื่อแบรนด์และออกแบบโลโก้แบรนด์ ให้เข้าถึงและจดจำได้ง่าย แล้วติดตามในตอนต่อไปนะครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้